สบท.เล็งใช้มาตรการสังคม กำราบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตโฆษณาความเร็วเกินจริง จับมือสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดโครงการ "สปีดเทสต์" (Speed Test) เก็บข้อมูลใช้บริการเน็ตผ่านเว็บไซต์ ปิดรับข้อมูล 30 พ.ย.ในเฟสแรก ก่อนแจ้งสถานการณ์ทุกข้อร้องเรียน ด้านทรู ระบุ มีระบบตรวจสอบของตัวเองอยู่แล้ว พร้อมให้ความร่วมมือ สบท.ตรวจสอบความโปร่งใส นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า สบท. ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (สบท.) จัดทำ "โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตปี 2552" เพื่อเก็บข้อมูลข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเปิดให้ผู้บริโภคเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตัวเองใช้ผ่านเว็บไซต์ ได้ที่ www.speedtest.or.th ซึ่งระบบจะทดสอบความเร็วของผู้ให้บริการรายนั้นทันที และเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ จากนั้นจะนำผลที่ได้มาประมวลและเผยแพร่ให้สื่อมวลชนและผู้บริโภคทราบ
ที่มาโครงการนี้เนื่องจากพบว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.2552 มีการร้องเรียน 622 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตถึง 90% ร้องเรียนเรื่องประสิทธิภาพและความเร็วไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณา สบท.พบว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้แข่งขันกันโฆษณาเรื่องความเร็วอิน เทอร์เน็ต ตั้งแต่ความเร็ว 3 เมกะบิตต่อวินาที จนถึง 10 เมกะบิตวินาที แต่พบว่าผู้ให้บริการบางรายความเร็วเน็ตไม่เป็นไปตามโฆษณา
"จุดมุ่งหมายของการสำรวจข้อมูลนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งหากมีผู้ประกอบการรายได้มีข้อร้องเรียนเกินกว่า 50% ก็จะแจ้งให้ กทช.ดำเนินการต่อไป แต่เพื่อให้พัฒนาบริการไม่ใช่เพื่อปิดการให้บริการ" นพ.ประวิทย์กล่าว
โดยปัจจุบัน แม้จะไม่มีบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่ให้บริการ ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ แต่การสำรวจข้อมูลโดยเก็บระบบเฟสแรกเป็นเวลา 3 เดือนหรือ 24.00 น.วันที่ 30 พ.ย.นี้ จะนำผลมาเปิดเผย ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อผู้ประกอบการ นำไปพัฒนาคุณภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งหากได้ผลดีก็จะดำเนินการเก็บข้อมูลระยะต่อไป เพราะใช้งบประมาณดำเนินการไม่มากเพียง 4 แสนบาท สำหรับการดำเนินการและลงทุนระบบในเฟสแรก
"เราต้องวางรากฐานคุณภาพบริการอินเทอร์เน็ตไว้แต่แรก เพราะต่อไปบริการนี้จะสำคัญควบคู่กับบริการมือถือ ที่ต่อเน็ตได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับแนวโน้มของประเทศอื่นๆ ในโลก ที่มีข้อร้องเรียนจากการใช้งานโทรคมนาคมสูงสุด แซงหน้าบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บ้านที่ดินแล้ว" นพ.ประวิทย์กล่าว
ด้านนายวสุ คุณวาสี ผู้อำนวยการด้าน Wire Voice Service บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์รายใหญ่ กล่าวว่า ต้องดูว่าเว็บตรวจสอบความเร็วที่ทาง สบท. ตั้งขึ้นมานั้น ตรวจสอบบนหลักการพื้นฐานอะไร เพราะหากทดสอบบนพื้นฐานความเร็วอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ แล้วนำมาใช้กับความเร็วอินเทอร์เน็ตในไทยก็อาจมีการคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ เชื่อว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของคนใช้อินเทอร์เน็ต คือ การโหลดเว็บไซต์ต่างประเทศเป็นหลัก เพราะขึ้นอยู่ปัจจัยหลายอย่าง ทั้งขนาดของเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง ที่อาจมีขนาดเล็ก การจราจรบนอินเทอร์เน็ต ณ ขณะนั้นหนาแน่น
ส่วนเว็บในไทยมักไม่ค่อยมีปัญหา โดยปัจจุบันเว็บของทรูได้เปิดให้ทดสอบความเร็วได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว โดยลิงค์ไปยังเว็บเอดีเอสแอลไทยแลนด์ (www.adslthailand.com) ซึ่งเป็นเว็บที่มีมาตรฐานในการตรวจสอบความเร็วบรอดแบนด์ในไทย หาก สบท.ขอความร่วมมือเข้ามาก็ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ/สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 24 สิงหาคม 2552
ข่าวจากแหล่งอื่น:
|